วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ความรู้เบื้องต้นของการบิน ร่มบิน


ตอนที่ 1 : ครูฝึกนั้น สำคัญไฉน

ตอนที่ 
2 : กฎการบินในอากาศ                                                                                           

ตอนที่ 
3 : พรบ.การเดินอากาศ กับบทลงโทษ ร่มบิน

ตอนที่ 
4 : ทำไมหลายคนเลิกบิน                                                                                         

ตอนที่ 
5 : ช่วงบินขึ้น เป็นช่วงที่เกิดอุบัติเหตุมากสุด

ตอนที่ 
6 : ร่มหุบ                                                                                                               

ตอนที่ 
7 : เครื่องดับกลางอากาศ                                                                                            

ตอนที่ 
8 : ท่าลงฉุกเฉิน ( Parachute Landing Fall )                                                           

ตอนที่ 
9 : สังเกตความเร็วลมจากสิ่งรอบตัว

ตอนที่ 
10 : สายไฟ แรงสูง/ แรงต่ำ

ตอนที่ 
11 : เดินทางไกล                                                                                                    

ตอนที่ 
12 : นี่คือสิ่งที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุในการบินร่ม

ตอนที่ 
1 : ครูฝึกนั้น สำคัญไฉน                                                                                            

จริงๆแล้ว
 การฝึกบินร่มนั้นดูเหมือนง่าย บางคนแอบไปดูคนอื่นๆเล่น ก็คิดว่าน่าจะหัดเล่นเองได้

อยากจะเปรียบเทียบกับการหัดบินเฮลิคอปเตอร์บังคับวิทยุ ที่หลายๆคนไปซื้อมาหัดเล่นเอง โดยไม่มีครูฝึก บางคนเร่งปุ๊บ เครื่องลอยขึ้นฟ้าปั๊บ ตกใจลดคันเร่งทันที ผลคือเครื่องกระแทกพื้น ใบพัดหัก
 บางคนกล้าๆกลัว เลยเล่นไม่เป็นเสียที กลัวเครื่องพัง ก็เลยเก็บไม่เล่นต่อ แต่ที่ดีอย่างหนึ่งเมื่อ ฮ. บังคับ ตกลงมาพัง เราสามารถซ่อมได้ มีอะไหล่เปลี่ยนทุกชิ้น ส่วนร่มบินถ้าเกิดอุบัติเหตุ เจ็บตัวแล้ว มักจะเข็ด เลิกเล่นไปเลย เพราะคิดว่ามันอันตราย มีบางคน ที่ได้รับการฝึกบ้าง แต่ไม่ทั้งหมด ประเภทฝึกให้ฟรี แอบไปบินเองในช่วงแรก ปรากฏว่าขึ้นบินได้ แต่ไม่สามารถบินไปข้างหน้าได้ ยิ่งเร่งก็ยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จนต้องเลี้ยวกลับ ไปลงในพื้นที่ข้างหลัง แล้วลงมาต่อว่าคนขายร่มพร้อมเครื่องว่าหลอกขายเครื่องที่ไม่ดีให้ ถามไปถามมา พบว่าพี่ท่านไปบินในวันที่ลมแรงมากๆ โดยไม่รู้ว่าร่มบินมีกฎห้ามบินเมื่อลมพัดแรงมากกว่า 15กม./ชม. โชคดีนะที่ไม่เจ็บตัว
การฝึกร่มบินที่ดี ควรเป็นไปตามขั้นตอน มีมาตรฐาน และขอแนะนำว่าควรหาครูฝึกให้เป็นเรื่องเป็นราว ต้องยอมจ่ายเงินเป็นค่าฝึก ( มาตรฐานในบ้านเรา ราคาประมาณ 10,000 –15,000 บาท )

เพื่อให้ได้รับการฝึกที่ดีและถูกต้อง และครบถ้วน ถ้าให้คนที่บินเป็น หรือพรรคพวกกันฝึกให้ มักจะได้ไม่เต็มที่ ทั้งพื้นฐานด้านทฤษฎี และการปฏิบัติ บางทีไม่มีเวลาฝึกให้ อย่างต่อเนื่อง หรือมีความเกรงใจกัน ทำให้เรียนรู้ไม่ครบ ลัดขั้นตอน
 บางคนฝึกดึงร่ม ไม่กี่ครั้ง ยังบังคับร่มให้ตั้งได้ตรงไม่ได้ทุกครั้ง ก็โดนลากขึ้นบิน ปล่อยเดี่ยวแล้ว อันตรายและโอกาสเสียเงินค่าซ่อม เครื่องและเจ็บตัวมีมากจริงๆ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าใบพัดพัง มากกว่า ใบในช่วง 20ไฟลท์แรก แสดงให้เห็นว่าไม่ได้เรื่อง ยังถือว่าไม่ผ่าน ฝึกมาไม่ดีพอ ควรกลับไปฝึกใหม่กับผู้รู้ หรือเปลี่ยนตัวครูฝึกใหม่ บางคนเซ้าซี้ อยากบิน บอกว่ามีเวลา 2-3 วัน เพราะอยู่ต่างจังหวัดบอกว่าอยากจริงๆ คนขายก็ขัดไม่ได้ หรือ อาจจะร้อนเงิน อยากขายเครื่องเต็มแก่ เอาก็เอา ฝึกหลักสูตรเร่งรัด หัดแป๊ปเดียว เอาลูกน้องช่วยลากสายเอ ดึงขึ้น แล้วไปว่ากันกลางอากาศนะเพ่ ถือว่าปล่อยเดี่ยวแล้วว่ะ ตอนลงจะเอาก้นลง หรือคว่ำหน้า คว่ำหลัง ก็ถือว่าจบแล้ว อันนี้บอกได้เลย ว่าอันตราย เทียบได้กับส่งคนไปเจ็บ หรือ ไปตาย
ศิษย์ประเภทนี้ดีอย่าง คือทำเงินให้ช่างซ่อมเครื่อง และคนทำใบพัดได้เป็นกอบเป็นกำ
จึงอยากบอกย้ำว่าการฝึกร่มบิน ต้องมีมาตรฐาน มีเวลา และ การประเมินความพร้อมของศิษย์
ที่สำคัญสุดคือ ครูฝึกนั้น จะต้องรู้จริง เป็นผู้ที่บินมาอย่างน้อย 2 – 3 ปีขึ้นไป และมีประวัติการบินที่ปลอดภัย ไม่ใช่คนบินซิ่ง บินผลาดแผลงเก่ง จะเป็นครูฝึกที่ดีได้ทุกคน ในต่างประเทศ ผู้ที่จะเป็นครูฝึก ได้จะต้องผ่านการทดสอบ และมีใบอนุญาต บ้านเรายังไม่มีมาตรฐานรองรับ แต่ก็สามารถสอบถามได้ในกลุ่มนักบินเก่า ที่บินกันอยู่ ว่ามีใครบ้าง
 พื้นที่ฝึกควรจะเหมาะสม เป็นที่โล่งกว้าง ไม่มีสิ่งกีดขวาง ห่างจากสายไฟแรงสูง และสามารถขึ้นลง ได้ทุกทิศทาง
ควรมีอุปกรณ์การฝึกที่ดีพอ บางท่านเอาร่มรุ่นเก่า ที่ทั้งหนัก ทั้งยุ่ยเป็นผ้าขี้ริ้ว มาให้ฝึก เห็นสภาพนักเรียน แล้วก็อดจะเวทนาไม่ได้ เวลาจะปล่อยเดี่ยว ก็ใช้เครื่องเก่าๆนั่นแหละ ถ้าเกิดเครื่องดับ กลางอากาศกับมือใหม่ โอกาสเจ็บตัวมีสูงทีเดียว ก่อนที่จะตั้งตัวเองเป็นอาจารย์อยากให้ทุกท่านลองถามตัวเอง ว่ารู้ท่องแท้ทั้งเรื่องทฤษฎีและปฏิบัติในเรื่องร่มบิน เรื่องลมฟ้าอากาศ เรื่องกฎการบินมากพอแล้วหรือ เราสามารถถ่ายทอดให้นักเรียนเข้าใจได้ดีพอแค่ไหน เราประเมินนักเรียนว่ามีความพร้อมหรือไม่ในการที่จะขึ้นบินปล่อยเดี่ยว
เพราะนั่นหมายถึงความปลอดภัยของศิษย์ และควรจะเป็นส่วนที่ครูฝึกต้องรับผิดชอบด้วย

คำพูดที่ว่า “ ฝึกน้อยเจ็บมาก ฝึกมากเจ็บน้อย“ 
ยังเป็นความจริงเสมอ ในขณะที่หลายคนขวนขวายที่จะสอบเอาใบอนุญาตนักบิน โดยสอบทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ จาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ( นั่นหมายถึงบินเป็นแล้ว ) ผมกลับมองว่า การออกใบอนุญาตให้ครูฝึกหรือโรงเรียนฝึก ( คนละคน กับผู้มาเช็คภาคปฏิบัติ)
กลับสำคัญกว่า เพราะถ้าเราได้นักบินใหม่ที่อย่างน้อย ผ่านขั้นตอนอย่างมีมาตรฐาน จะทำให้สถิติ การเกิดอุบัติเหตุมีน้อย การไม่มีเรื่องราวร้ายๆขึ้นหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์ ย่อมทำให้วงการร่มบินโดยรวม มีภาพพจน์ที่ดี ไม่โดนควบคุมด้วยกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทำให้พวกเราบินเล่นกันได้อย่างมีความสุขไปกันอีกยาวนานครับ


ตอนที่ 2 : กฎการบินในอากาศ
ขับรถย่อมมีกฎ เช่นเดียวกันบิน ร่มบินก็มีกฎ ถ้าบินอยู่ตัวเดียวจะบินอย่างไรก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าบินหลายๆตัว เป็นหมู่ ก็ย่อมมีกฎเกณฑ์ เช่นกัน กฎแรก “ สิทธิในเส้นทางการบิน “ 

1. เครื่องที่เกิดเหตุฉุกเฉิน หรือเครื่องดับ มีสิทธิในเส้นทางการบินเหนือผู้อื่น มีสิทธิที่จะลงจอดก่อน ผู้อื่นที่บินอยู่ ต้องเป็นฝ่ายหลบ หรือให้ทาง

2. หากบินสวนทาง พุ่งเข้าหากัน ให้เลี้ยวหลบขวาใคร ขวามัน

3. เครื่องที่บินเร็วกว่า ตามหลังมา เวลาจะแซงให้แซงขวา และมีระยะห่างพอควร

4. หากบินเข้าหากัน ในระดับเดียวกัน เครื่องตัวที่อยู่ขวา มีสิทธิในเส้นทาง ตัวช้ายจะต้อง เป็นผู้หลบ

5. ถ้ามีเครื่องบินชนิดอื่นๆ หลายชนิดมาบินร่วมกัน และกำลังบินเข้าหากัน เครื่องที่บังคับได้น้อยสุดมีสิทธิในเส้นทางมากกว่าชนิดอื่นๆ ที่สมรรถนะสูงกว่า เช่น บอลลูนมีสิทธิ มากกว่าพวกเครื่องร่อน( ร่มร่อน หรือ Glider แบบที่ไม่มีเครื่องยนต์) เครื่องร่อนมีสิทธิมากกว่าร่มบินร่มบินมีสิทธิมากกว่าอุลตร้าไลท์ อุลตร้าไลท์มีสิทธิมากกว่าเครื่องบิน เครื่องบินมีสิทธิมากกว่าเฮลิคอปเตอร์

กฎที่ยกมานี่เป็นกฎสากล ที่นักบินต้องรู้ แต่ พวกเราไม่ต้องไปยึดมากนัก โดยเฉพาะข้อที่ 5.ถ้าหลบได้ก่อน ก็รีบๆหลบเถอะครับ

ส่วนกฎอื่นๆ ขณะบินหมู่มีอีกดังนี้ครับ :
1. อย่าบีบให้ผู้อื่นต้องเป็นผู้หลบเท่านั้น เราควรเตรียมพร้อมและหลีกเลี่ยงก่อนที่จะมีการชนเกิดขึ้น ไม่ว่าใครจะมี “ สิทธิในเส้นทาง “ ก็ตาม

2. ขณะขึ้นบินหมู่ ควรกำหนดวงจรบินในบริเวณสนามเสียก่อน ว่าจะบินวนขวาหรือซ้าย จะได้บินตามกัน

3. หากมีจำนวนร่มบินมากเกินไปในอากาศ เราควรจะรอให้ว่างลงบ้าง แล้วค่อยขึ้นบิน เพราะบางทีมีทั้งมือเก่า มือใหม่ ไม่รู้เรื่องอะไร บังคับยังไม่คล่อง ทำให้ต้องเครียดเวลาบินร่วมกันแทนที่จะบินสนุก
4. ก่อนกางร่มขึ้นบินพร้อมๆกัน ต้องเลือกสถานที่และระวังนักบินอื่น เวลาเราเร่งเครื่องวิ่งขึ้นแล้ว เศษฝุ่น ไม่ฟุ้งไปใส่คนอื่น หรือพัดให้ร่มคนอื่นที่เตรียมจะขึ้นปลิวกระเจิง หรือวิ่งไปเหยียบร่มผู้อื่น
5. ตื่นตัวตลอดเวลา มองซ้ายขวา หน้าหลัง ล่างบน ให้แน่ใจก่อนที่จะเลี้ยว หรือเปลี่ยนระดับการบิน ให้รีบตัดสินใจ ไม่ต้องรอจนนาทีสุดท้าย

6. ควรมีวิทยุสื่อสาร เพื่อที่จะจัดจราจรกลางอากาศ หรือรับทราบข้อมูลที่จำเป็น

7. ระวังขี้ใบพัด เพราะอาจทำให้ร่มพับได้

8. ปฏิบัติตามกฎการบินของสถานที่นั้นๆ อย่างเคร่งครัด เพราะอาจมีข้อห้ามพิเศษ

9. หากที่วิ่งขึ้นมีจำกัด ควรเข้าคิว ใครที่คิดว่าตัวเองใช้เวลาเตรียมตัวในการขึ้นมากๆ ต้องมีคนมาช่วย ก็ควรจะไปรอบินเป็นคิวท้ายๆ

10. เวลาลงจอดควรเป็นเข้ามาเป็นวงจร แล้วแจ้งทางวิทยุ หรือเหยียดตัวยืนแกว่งขาให้สัญญาณ ตัวที่ต่ำกว่ามีสิทธิลงก่อน เว้นระยะห่าง และมองซ้ายขวา หน้าหลัง ล่างบนให้รอบครอบ เพราะอาจมีตัวอื่นที่จะลงจอด สวนกัน หรือกำลังบินขึ้น ในกรณีบินหลายๆตัว อย่าเพิ่งดับเครื่องจนกว่าจะแน่ใจว่าปลอดภัยและใกล้ถึงพื้นแล้ว อย่างน้อยถ้าฉุกเฉิน ยังสามารถเร่งเครื่องหลบได้

11. ลงถึงพื้น แล้วรีบเคลียร์พื้นที่ รวบร่มเก็บออกมาก่อน พร้อมเครื่องไม่ให้กีดขวางผู้อื่น

ดังนั้นเวลามีการบินหมู่ นักบินทุกคนจึงต้องปฏิบัติตามกฎการบินอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ เคยมีโอกาสไปดูงานเกี่ยวกับการบินของโลก ในวันเปิดพิธีมีเครื่องบินมาร่วมหลายพันคัน อุลตร้าไลท์และร่มบินเป็นร้อยๆตัว บนท้องฟ้าเต็มไปด้วยอากาศยาน แต่ไม่มีเหตุการณ์เครื่องชนกัน เพราะเขามีการกำหนดโซนการบินไว้อย่างชัดเจน เครื่องบินเร็วจะอยู่คนละฝากของแนววิ่งขึ้นกับเครื่องบินช้า ร่มบินก็จะแยกไปอีกโซนหนึ่ง

ก่อนที่นักบินจะนำเครื่องจากสนามบินต่างๆบินเข้าสู่บริเวณจัดงานก็จะมีการประสานงานถึงระดับเพดานบินและรายละเอียดต่างๆ และจะมีการประชุมสรุปนักบินที่ลงทะเบียน อธิบายและชี้แจงข้อสงสัย ที่จะขึ้นบินในวันเปิดพิธี เช่น ก่อนขึ้นบินต้องมาแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อน พวกอุลตร้าไลท์และร่มบิน พอขึ้นบินไปอยู่ในโซนที่กำหนดแล้ว เขาจะปล่อยให้บินตามสบาย ให้ระวังกันเอง โดยไม่ต้องติดต่อวิทยุเลย ยกเว้นช่วงจะขอลงจอด ดูแล้วสนุกสนาน ตระการตา เต็มฟ้าเลย
ตอนที่ 3 : พรบ.การเดินอากาศ กับบทลงโทษ ร่มบิน
วันนี้เอา พรบ. การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 และบทลงโทษ มาให้พวกเราชาวร่มบินได้รู้ และตราบใดที่ยังไม่มีการแก้ไข การบินร่มในปัจจุบันก็ถือว่าผิดอยู่ดี เพราะตอนนี้กฎหมายยังจัดว่าร่มบินเป็นอากาศยานส่วนบุคคล ตามมาตรา และยังต้องอยู่ภายใต้ ข้อบังคับคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ 43 รวมทั้งมีกฎกระทรวง ฉบับที่ 32 กำหนดรายละเอียดอีกหยุมหยิม จึงอยากย้ำว่า ในการเติบโตอย่างรวดเร็วของคนเล่นร่มบิน นักบินมือใหม่มีมาก และบางคนไม่รู้เรื่องกฎหมายอะไรเลย อาจจะบินว่อนไปหมด ด้วยความที่ไม่รู้ หลายคนไม่บินในสนามที่กำหนด บางคนไปบินทำความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน ด้วยการบินโฉบต่ำ หรือบินเข้าไปในตัวเมือง แม้กระทั่งบินตัดหน้าขบวน วีไอพี มาดูกันครับ ( คัดมาเฉพาะ ส่วนที่เกี่ยวกับร่มบิน )
มาตรา 16 : ห้ามมิให้ผู้ใดนำอากาศยานทำการบิน เว้นแต่มีสิ่งเหล่านี้ อยู่กับอากาศยานนั้น คือ

1. ใบสำคัญการจดทะเบียน

2. เครื่องหมายสัญชาติและทะเบียน

3. ใบสำคัญสมควรเดินอากาศ

4. สมุดปูมเดินทาง

5. ใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่แต่ละคน

6. ใบอนุญาตเครื่องวิทยุสื่อสาร ถ้ามีเครื่องวิทยุสื่อสาร

มาตรา 68 : ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 16 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 4000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 6เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 29 ทวิ : ห้ามมิให้ผู้ใดใช้อากาศยานส่วนบุคคลในการเดินอากาศ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตใช้อากาศยานส่วนบุคคลจากรัฐมนตรี
มาตรา 68 ทวิ : ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 29 ทวิ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100000บาท หรือจำคุกไม่เกิน ปี หรือ ทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 17 : ห้ามมิให้อากาศยานใช้ที่หนึ่งที่ใดเป็นที่ขึ้นลง นอกจากสนามบินอนุญาต หรือที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยานที่ได้รับอนุญาต หรือที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

มาตรา 69 : ผู้ควบคุมอากาศยานใดฝ่าฝืน มาตรา 17 ปรับไม่เกิน 30000 บาทและจำคุกไม่เกิน ปี

มาตรา 19 : อากาศยานต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน

มาตรา 69 ทวิ : ผู้ควบคุมอากาศยานใดฝ่าฝืน มาตรา 19 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2000บาท หรือจำคุกไม่เกิน เดือน หรือ ทั้งปรับทั้งจำ

จะเห็นได้ว่าบทลงโทษค่อนข้างหนักทีเดียวครับ ตราบใดที่พวกไม่สามารถแก้ พรบ. นี้หรือ เปลี่ยนแปลงอะไรได้ ก็อยากขอร้องครับ ว่ากรุณาบินตามกฎของสนามอย่างเคร่งครัดไปก่อน

ถ้ามีเรื่องขึ้นมาก็ตัวใครตัวมันครับ พวกที่อ้างว่าร่มบินไม่ต้องขออนุญาต ก็จำให้แม่นนะครับ....มีคุกอยู่ทุกมาตราเลย

ตอนที่ 4 : ทำไมหลายคนเลิกบิน
ความหลงใหล ใฝ่ฝันในการบิน ทำให้หลายคนก้าวเข้ามาสู่วงการบิน แต่เราจะพบว่า แม้จำนวนนักบินใหม่จะเพิ่มขึ้นมากมาย แต่ก็จะมีหลายคนมากทีเดียวที่หยุดบิน เพราะเมื่อเขาบินมาถึงจุดหนึ่ง แล้วพบว่ามันเสี่ยงนะ และพบว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่เขารู้สึกว่ามันอยู่นอกเหนือการควบคุม
บางท่านอาจบินไปพบเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เช่นติดสภาพอากาศเลวร้าย เลยเริ่มกลัว รวมทั้งปัญหาด้านสุขภาพและปัจจัยด้านครอบครัว ยกตัวอย่างเช่น หากภรรยาเห็นเพื่อนในหมู่นักบินด้วยกันเกิดอุบัติเหตุ ก็อ้อนวอน ร้องขอให้เลิกบิน หรือโดนยื่นคำขาด
มีกราฟอันหนึ่ง เรียกว่า กราฟความกล้าของนักบิน ซึ่งจะเป็นรูประฆังคว่ำ

ช่วงเริ่มบินแรกๆ นักบินใหม่จะระมัดระวัง ยังไม่กล้าทำโน่นทำนี่ เพราะยังไม่มีประสบการณ์และยังมีความกลัวสูงอยู่ กราฟจะอยู่ต่ำๆ ค่อยๆ พุ่งขึ้น ช่วงกลางของกราฟ เมื่อประสบการณ์มากขึ้น ความกลัวลดลง ความกล้าจะเพิ่มขึ้น ซึ่งกราฟจะพุ่งสูงสุด ตอนที่ได้รับรางวัลจากการแข่งขัน ชนะการแข่งอะไรสักอย่าง หรือถ้าเป็นในต่างประเทศ ก็จะเป็นขณะที่ได้เลื่อนขั้นนักบินเป็นระดับสูงขึ้น ช่วงท้ายของกราฟ ความกล้าจะลดลง หลังจากที่เจอเหตุการณ์ไม่ดีกับตัวเองหรือ เกิดกับกลุ่มเพื่อนที่รู้จัก ความกลัวจะเริ่มมาเยือน

ที่เล่าให้ฟังนี้ก็เป็นการย้ำว่า ถ้าท่านยังอยากจะมีความสุข และสนุกนานๆ

คงต้องระมัดระวังในการบินมากขึ้น ไม่ประมาท จะได้บินกันนานๆ

ตอนที่ 5 : ช่วงบินขึ้น เป็นช่วงที่เกิดอุบัติเหตุมากสุด
ที่จริงแล้วช่วงอื่นก็มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุ แต่สำหรับมือใหม่มักจะเกิดตอนบินขึ้น มาดูกันว่าเกิดตอนไหนกันบ้าง:
-ก่อนบินขึ้น ไม่ตรวจเครื่องและร่ม ( Pre-Flight Check ) โอกาสเกิดอุบัติเหตุมีมากสุด

-ขณะวิ่งขึ้น ร่มขึ้นไม่ตรง ยังโคลงไปมา นักบินไม่ได้แหงนดู เร่งเครื่องสุด ผลคือล้มลง

-ขณะวิ่งขึ้น ความเร็วยังไม่ได้ ยังไม่มีแรงยกพอ นักบินโดด ผลคือเครื่องกระแทกพื้น ใบหัก

-ขณะวิ่งขึ้น วิ่งไปสุดทางวิ่งแล้ว ยังไม่ยกตัว แต่ดันทุรังที่จะไปต่อ ( วันที่อากาศร้อน อบอ้าวแรงยกตัวของร่มและแรงขับใบพัดจะลดลง )

-มีต้นไม้ หรือสิ่งกีดขวางข้างหน้า

-สนามสั้น ไม่เหมาะสม

-เมื่อบินขึ้น แล้วรีบนั่ง รีบเลี้ยว รีบปล่อยสายเบรค โดยที่ยังไม่มีระยะสูงปลอดภัยพอ

-ช่วงวิ่งขึ้น นักบินไม่ทันได้มองร่มตัวอื่น ที่กำลังจะขึ้น-ลง ทำให้ชนกัน หรือเจอขี้ใบพัดตัวอื่น

-เมื่อบินขึ้น ในระดับความสูงไม่เกิน 2 - 300 ฟุต แล้วเครื่องดับ นักบินเลี้ยวกลับสนาม ผลคือสตอล เสียความสูงอย่างเร็ว ทำให้ลงกระแทก ถ้าเครื่องดับในระยะต่ำให้บินลงตรงข้างหน้าอย่างเดียว เลี้ยวหลบได้เล็กน้อย

-เมื่อบินขึ้น แล้วลืมล๊อคขา ลำตัวรูดลง ทำให้ตกใจ วิธีแก้คือให้ใจเย็น ค่อยๆบินลง
-ข้อสุดท้าย ถ้ารู้สึกไม่ดี หรือร่างกายไม่พร้อม อย่าขึ้นบิน แถมอีกข้อ..........ฉี่ก่อนขึ้นบิน
ตอนที่ 6 : ร่มหุบ
สมมุติว่าถ้าบินๆไป แล้วเข้าไปในสภาวะอากาศแปรปรวน หรือเจอขี้ใบพัดของร่มตัวอื่น แล้วชายปีกด้านขวาหุบลงมาครึ่งหนึ่ง จะเกิดอะไรขึ้น
วินาทีนั้นนักบินจะรู้ตัวจากการถูกเหวี่ยงขวา เหมือนเลี้ยวขวาลึกๆ และเสียความสูง ทั้งๆที่มือที่จับสายเบรค ด้านขวาเบาหวิว
 วิธีแก้อันดับแรกคือมีสติ อย่าตกใจ ถ้ามีความสูงพอให้เหลือบขึ้นไปมองดูร่มก่อนว่าเกิดอะไรขึ้น
แล้วให้ดึงเบรคซ้าย เพื่อรักษาทิศไม่ให้หมุนไปมากกว่านี้ แต่อย่าดึงมากจนเกิดการสตอล นั่นหมายถึงสถานการณ์เลวร้ายขึ้นไปอีก กลายเป็นหมุนติ้ว
การดึงด้านที่ยังกางอยู่ จะช่วยให้ลมภายในเซล วิ่งทะลุไปยังด้านที่หุบ และจะช่วยให้ปีกด้านนั้น กางเองอีกครั้งได้ ส่วนด้านที่หุบ อาจจะใช้วิธีปั๊มหรือใช้ช่วงชักยาวๆ ( การปั้มซอยถี่สั้นๆ จะไม่ช่วยอะไร )
ซึ่งปกติ ร่มรุ่นเบสิคจะกลับมากางเองได้ง่ายกว่าร่มสำหรับมือโปร โดยที่แทบไม่ต้องทำอะไรเลย

แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับเวลา และความสูงที่เรามีอยู่
 นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ไม่ควรบินต่ำเกินไป เพราะจะได้พอมีเวลาแก้ไขทัน หากมีเหตุฉุกเฉิน ทางที่ดีที่สุด ก็ควรอย่าพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์นั้นๆครับ !!

ตอนที่ 7 : เครื่องดับกลางอากาศ
คำถามยอดฮิตของคนที่สนใจพารามอเตอร์มักจะถามว่า "ถ้าเครื่องดับ จะทำอย่างไงครับ" เราเองก็บอกว่า ..อ๋อ..ปกติเราดับเครื่องลงอยู่แล้ว แต่บางทีเราไม่อยากให้มันดับ..มันดันดับนี่หล่ะครับ..ปวดใจสิ้นดี..เรื่องเครื่องดับกลางอากาศ
สาเหตุที่เครื่องดับกลางอากาศ มีอยู่ปัจจัยหลักๆ ดังนี้ครับ

1.น้ำมันหมด ก่อนการบินควรวางแผนการบินทุกครั้งว่า จะบินไปไหนใช้เวลาประมาณเท่าไหร่และที่สำคัญคือต้องรู้อัตราการกินน้ำมันของเครื่องยนต์โดยประมาณว่ากินน้ำมันเฉลี่ยชั่วโมงละ กี่ลิตร ถ้าจะให้ดี ก็เติมเผื่อเอาไว้หน่อยครับ เหลือไม่เป็นไร แต่ถ้าขาดแล้วจะยุ่งบางทีอากาศดีๆ บินเพลินครับไม่อยากจะลง..หรือก่อนขึ้นเหลือบไปดูนาฬิกาว่าขึ้นกี่โมง ก็แค่นั้นเองครับ..แต่ร่วงด้วย สาเหตุนี้บางทีก็ไม่น่าจะให้อภัย..ไปอ้างว่ามองไม่เห็นน้ำมัน...อยู่ที่ความประมาทของนักบินครับ
2.สายหัวเทียนหลุด เกิดจากหลายสาเหตุครับ บางทีเครื่องยนต์พอใช้ไปนานๆ เกิดการสั่นสะเทือนทำให้ปลั้กหัวเทียนหลุดได้เหมือนกัน
บางทีถอดเข้าถอดออกบ่อยๆ ก็หลวมถ้าจะให้ดีเมื่อใช้งานสักระยะก็ควรจะเปลี่ยน แต่สองประเด็นนี้เกิดน้อย ส่วนใหญ่มักจะเกิดจาก ถอดหัวเทียน แล้วใส่เข้าไปไม่แน่นมากกว่าครับ..

3.น้ำมันลงไม่ทัน มีหลายประเด็นครับ
3.1 
คาบูเรเตอร์ตันเนื่องจากมีฝุ่น เศษผงเข้าไปอุดตัน
3.2 
ลืมเปิดก๊อกน้ำมัน หรือเปิดวาวล์ไม่สุด ก๊อกน้ำมันบางรุ่นจะมีก๊อก 1และ ก๊อก บางทีนักบินเข้าใจผิดไปเปิดก๊อกที่ แทนซึ่งรูการจ่ายน้ำมันจะเล็กกว่าเมื่อคุณเร่งเครื่องยนต์มาก นานๆ น้ำมันจะลงไม่ทันเครื่องก็ วอดได้เหมือนกัน
3.3 
ยางก๊อกน้ำมันบวม ไปอุดท่อส่งน้ำมัน กรณีเช่นนี้จะเกิดบ่อยมากครับ ผมเองเคยร่วงเพราะเหตุนี้ 4-5 ครั้ง ปัจจุบัน ก็เลยตัดปัญหาเอาก๊อกออก เวลาเลิกเล่นแล้วถ่ายน้ำมันออกทุกครั้งจะดีกว่า เป็นการล้างคาร์บูเรเตอร์และถังน้ำมันไปในตัวครับ
3.4 
รูระบายอากาศถังน้ำมันอุดตัน หรือพับ,งอ ไม่สามารถระบายอากาศออกได้ ก็เป็นสาเหตุให้น้ำมันลงไม่ทันเหมือนกันครับ
3.5 
ปั๊มน้ำมันไม่ทำงาน กรณีเช่นนี้จะเกิดบ่อยกับเครื่องประเภทถังน้ำมันอยู่ข้างล่าง เนื่องจากบางครั้งมี ออโตลู๊บไปค้างที่สาย หรือสายเวคคั่มปั้มน้ำมันรั่ว ทำให้จังหวะของปั๊มน้ำมันทำงานไม่เต็มที่หรือไม่ทำงาน กรณีเช่นนี้ช่วงหลังผมตัดปัญหาไปใช้ถังบนหมดครับ
3.6 
กรองน้ำมันตัน นี่ก็เป็นสาเหตุของการตกที่คาดไม่ถึงอีกล่ะครับ ทางที่ดีพอเห็นว่าใช้มาสักพักก็เปลี่ยนดีกว่า ราคาประมาณ 30 บาท อย่าไปเสียดายเลยครับ เพราะถ้าร่วงแล้วไม่คุ้มกัน
4.ลูกสูบติด หรือทะลุ มักจะเกิดจากการปรับแต่งเครื่องยนต์ครับ
4.1 เกิดจากการลืมผสมออโดลู๊บ หรือผสมอ่อนไป

4.2 
ไฟแก่เกินไป เครื่องยนต์มีความร้อนสูง
4.3 
เครื่องยนต์รอบจัดเกินไป
4.4 
น้ำมันไม่พอหรือนมหนูเล็กไป
เอากันง่ายๆ ครับ ปัญหานี่เกิดจากเครื่องยนต์ร้อนจัดเกินไปนั่นเอง ที่ว่าเครื่องแรงๆ ยิ่งแรงรอบก็ยิ่งจัด ความร้อนก็ยิ่งสูง ถ้าช่างที่เก่งๆเวลาจูนเครื่องยนต์มักจะมองที่สีของหัวเทียน อันดับแรกคือ เหนียวไว้ก่อนครับ ส่วนเรื่องแรงเดี๋ยวมาหากันทีหลัง..
5.
ไปโดนปุ่มดับ อันนี้ก็เป็นสาเหตุบ่อยสำหรับนักบินบางทีมือไปโดนไม่รู้ตัวหรอกครับ พอลงมาข้างล่างแทบจะตีกันตาย กับช่างเครื่องบางคนคิดว่าเครื่องตัวเองมีปัญหา พอลงมาข้างลงเอามือตบใบพัดทีเดียวติดเอาดื้อๆ ยกกลับไปหาช่างก็งงๆ ครับ ไม่รู้จะแก้ยังไง ทางทีดีนักบิน ควรจะหาสาเหตุให้เจอครับ จะได้ไม่มีครั้งต่อไป บางทีโทรไปถามช่างก็ไม่สามารถจะให้คำตอบได้ครับ...ต้องเอาเครื่องมาตรวจเช็คดู
ผมว่ายังมีอีกสาเหตุหนึ่ง..จากที่ฟังเขาว่ามาแล้วก็เห็นจริงๆ เวลา Low โดยเบาคันเร่งหมดเลย ไม่ได้เลี้ยงไว้บ้าง เสร็จแล้วเร่งเครื่องสุดทันที...ผลหรือครับ หวอด..... หวอด .....พรึ่บเงียบสนิท
ซ.ต.พ. แล้ว สาเหตุก็ มาจากข้อ 3.6 นั่นแหละ ครับผม
ไม่มีเครื่องตัวไหน ที่ไม่มีปัญหา ไม่ว่าจะเครื่องนอก เครื่องทำในไทยถ้ามันไม่เป็นที่เครื่องยนต์ ก็อาจจะมาจากสายไฟ สายน้ำมัน หรือปัจจัยอื่นๆดังนั้นเวลาก่อนขึ้นบิน ต้องPre-flight เช็คทุกอย่างก่อนเสมอให้เป็นนิสัย
การตรวจสอบ ตรวจเช็ค และเปลี่ยนอุปกรณ์ตามชั่วโมงบิน เป็นเรื่องจำเป็นเวลาบินต้องเผื่อใจ และเผื่อความสูง หากดับจะต้องมีที่ลงฉุกเฉินคนที่คิดว่าเครื่องตัวเองไม่ดับ มักจะเจ็บตัวได้มากกว่าคนที่คิดว่าเครื่องตัวเองอาจดับ

ตอนที่ 
8 : ท่าลงฉุกเฉิน ( Parachute Landing Fall )
วินาทีสุดท้ายของการลงแบบฉุกเฉิน(เช่น เกิดร่มพับ ควงลงอย่างเร็ว หรือลงไปในป่า )
เราจะใช้ท่าลงฉุกเฉินของการโดดร่มคือ 
PLF ขาชิด และชี้ลง / งอเข่าเล็กน้อย / ยกขาขึ้นประมาณ 45 องศา จากแนวที่เรากำลังพุ่งไป แล้วก็ภาวนา.....ดวงใครดวงมัน แต่สำหรับร่มบิน ที่มีเครื่องติดด้านหลัง เราจะมีแรงกระแทกจากน้ำหนักเครื่อง แถมอีกด้วย จึงควรตรวจสอบว่า ชุดฮานเนสที่ใช้อยู่มีฟองน้ำหนาๆ รองกันกระดูกสันหลังมั่งหรือปล่าว ( คล้ายกับ ของพวกร่มร่อน แต่ไม่ต้องหนามากขนาดนั้น ) บางสถานการณ์ อาจเอาด้านฐานของเครื่องลง กระแทกก่อนเพื่อรับแรง และใครที่เตรียมเครื่องป้องกันมาก เช่น รองเท้าบู้ท หมวกกันน๊อค สนับเข่า ถุงมือก็จะเจ็บตัวน้อยหน่อย ส่วนใหญ่ส่วนเท้าและข้อเท้าจะลงก่อน จึงเป็นส่วนที่เจ็บ บางคนอาจจะแค่ข้อเท้าแพลง หนักหน่อยก็กระดูกเท้าแตก หรือ มีการบาดเจ็บของกระดูกสันหลังเป็นของแถม และยังไม่มีใครได้รวบรวมสถิติเลยว่า พวกที่บินนานๆ เป็นหลายปีต่อเนื่อง ข้อเท้า และเข่า ที่รับน้ำหนักกระแทกตอนลงตลอด จะมีผลอะไรบ้าง ตัวผมเองเคยลงนอกสนาม แล้วเจอหลุม ข้อแพลง และทำท่าว่าจะหายถ้าเดินแบบปกติ แต่บางขณะก็มีอาการปวดแปล๊บๆ ถ้าเดินผิดท่าขึ้นมาเหมือนกัน จึงอยากเตือนนักบินหนุ่มๆนะครับ ว่ากรุณาป้องกันข้อเท้าของท่าน และใช้ด้วยความถนุถนอม ( เหมือนกระสุนประจำตัวท่านชาย ) และถ้าไม่อยากเกิดเหตุการณ์ที่จะทำให้เจ็บตัวเช่นนี้ ก็พยายามอ่านกฎการบินบ่อยๆ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ครับ

ตอนที่ 9 : สังเกตความเร็วลมจากสิ่งรอบตัว
นักบินสามารถประมาณความเร็วลม ได้ โดยสังเกตสิ่งรอบๆตัวดังนี้
-ลมนิ่ง ควันไฟลอยขึ้นตรงๆ พื้นผิวน้ำ นิ่ง ใส เรียบเป็นผิวกระจก ความเร็วลมจะประมาณ 0 – 1 กม. ต่อ ชม.

-ควันไฟที่ลอยขึ้น ค่อยๆเฉ ถุงลมยังไม่เคลื่อนไหว ผิวน้ำมีคลื่นเล็กๆ ความเร็วลมจะประมาณ2 – 6 กม. ต่อ ชม.

-ใบไม้ กิ่งไม้เคลื่อนไหว ควันไฟเฉ ถุงลมทำมุม 60 องศากับแนวดิ่ง ความเร็วลมจะประมาณ10 – 12 กม. ต่อ ชม.

-ต้นไม้ ยอดสนลู่ตามลม ควันไฟเป็นแนวราบในระดับต่ำ ขาดเป็นระยะๆ ถุงลมตั้งฉาก

ความเร็วลมจะมากกว่า 15 กม. ต่อ ชม.

ขณะบิน เราจึงควรสังเกตสิ่งต่างๆเหล่านี้ โดยกวาดสายตามองรอบๆ ใกล้ไกล เพื่อที่จะได้เป็นข้อสังเกตว่าสถานการณ์โดยรอบเป็นอย่างไร ซึ่งจะช่วยทำให้การบินปลอดภัยมากขึ้น

ตอนที่ 
10 : สายไฟ แรงสูง/ แรงต่ำ
ก่อนขึ้นบินต่างถิ่น ต่างสถานที่ ควรเช็คบริเวณรอบๆ ให้แน่ใจว่า ห่างจากเสาไฟทั้งหลายเพราะนักบินกับสายไฟ และเสาไฟ เป็นของคู่กัน ถ้าไม่จำเป็นไม่ต้องเข้าใกล้นะครับ ก่อนที่จะบินข้าม ต้องมีระยะสูงเผื่อไว้ให้พอเพียง ( ถ้าเป็นเสาแรงสูง อย่างน้อย 10 เมตร ) หากเครื่องดับ จะได้หลบทัน เวลาข้ามควรทำมุมเฉียงเพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉิน จะดึงเลี้ยวไม่มากเท่ากับมุมฉาก ในกรณีเครื่องดับ และมีสายไฟขวางอยู่ข้างหน้า ควรเลี้ยวลงก่อน อย่าเสี่ยงข้าม หรือ บางครั้งการอัดเครื่องสุด เพื่อที่จะข้ามสายไฟ ในระยะเฉียดฉิว ก็ไม่ควรทำ
และสุดท้าย การจะลงในที่ๆ ไม่คุ้นเคย อย่าเพิ่งรีบดับเครื่องแล้วลงทันที อย่างน้อย ควรบินลงไปต่ำๆเพื่อสำรวจสถานที่ก่อน หนึ่งเที่ยว เพราะอาจมีสายไฟเส้นเล็กๆอยู่ด้านล่างพาดขวางอยู่ ซึ่งตอนบินอยู่สูงๆ นักบินแทบมองไม่เห็น

คำเตือน : การบินร่มบินที่ถูกต้องคือลอยอยู่กลางอากาศ ไม่ใช่แขวนอยู่บนเสาไฟ

ตอนที่ 11 : เดินทางไกล
หน้าฝนผ่านพ้นไป อากาศหนาวเริ่มมาเยือน เป็นสัญลักษณ์ของอากาศดี เหมาะกับการบินเดินทาง ซึ่งเป็นการบินที่น่าสนุกและตื่นเต้น ตื่นตาตื่นใจสำหรับนักบินใหม่ยิ่งนัก ก่อนการเดินทางไกล ควรจะมีการเตรียมการล่วงหน้า ทั้งการสำรวจเส้นทาง จุดพัก และเช็คสภาพเครื่องยนต์ให้พร้อมมากที่สุด มีแผนสำรองเผื่อไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง อันเนื่องมาจากสภาพอากาศ หรือมืดค่ำเสียก่อน เวลาที่ดีสุดน่าจะเป็นช่วงเช้ามืดเพราะหากเกิดพลัดหลง หรือเหตุฉุกเฉิน และเกิดการค้นหาช่วยเหลือจะสะดวกกว่าในความมืดหากบินตอนเย็น
ขณะบินข้ามป่าใหญ่ หรือหมู่บ้าน ควรจะบินสูงหน่อย ไม่ต่ำ 500 ฟุต หรือสูงพอที่จะร่อนลงในพื้นที่สำรองได้

นักบินต้องสอดส่องสายตา หาที่ลงฉุกเฉินทุกระยะ ถ้าบินทวนลมควรมองพื้นที่ด้านข้าง ด้านล่าง หรือด้านเยื้องไปข้างหลัง เพราะหากเครื่องดับกระแสลมอาจทำให้เราร่อนไปข้างหน้าได้ไม่มากนัก เวลาลง ควรลงใกล้ถนน หรือหมู่บ้านให้มากที่สุด
 ถ้ามีวิทยุสื่อสาร ควรรีบแจ้งเพื่อนที่บินด้วยกันให้ทราบถึงตำแหน่งคร่าวๆ ก่อนลงสู่พื้น เพราะจะได้ค้นหาได้ถูกจุด เนื่องจากบางพื้นที่อาจจะเป็นที่อับสัญญาณ เช่นหุบเขา ลงไปแล้วใบ้กินอยู่คนเดียว จะบอกว่าตัวเองอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้จะบอกอย่างไร อุปกรณ์ที่ควรมีติดตัวนอกจากวิทยุสื่อสาร ก็มี โทรศัพท์มือถือ GPS เข็มทิศ นาฬิกา และกระจกส่องดูน้ำมัน ควรมีทีมสนับสนุนทางภาคพื้น คอยติดตาม รับกลับ หรือช่วยเหลือหากมีเหตุฉุกเฉิน เช่น กรณีที่บินตอนเย็น แล้วมืดค่ำ จะได้ช่วยเปิดไฟรถส่องพื้น หรือก่อกองไฟ รวมทั้งคอยวิทยุกำกับ ลำดับการลงจอดเพื่อไม่ให้ชนกัน และหากท่านเป็นมือใหม่ ควรบินตามคนที่ชำนาญกว่า ตอนบินลงให้ลงทีหลัง เพื่อที่จะได้ทราบ แนวร่อนลงและสภาพของสนาม
ตอนที่ 12 : นี่คือสิ่งที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุในการบินร่ม

1. สิ่งกีดขวาง เช่นต้นไม้ อาคาร ขณะบินขึ้น หรือลงจอด
2. บินในระดับต่ำ

3. บินเป็นหมู่

4. บินเข้าเมฆ หมอก

5. บินโชว์ บินอวด

6. บินผาดแผลง

7. บินเหนือน้ำ

8. สายไฟฟ้าแรงสูง

9. ลมแรง ลมกระโชก

10. ใช้ร่มสมรรถนะสูงๆ ร่มของโปร

11. บินเดินทางไกล

12. บินแข่งขัน

13. บินทำสถิติ หรือ ทำในสิ่งที่คนอื่นไม่ทำกัน

14. ความอ่อนล้าของนักบิน

15. ความกลัว และ ตื่นตระหนก

16. มั่นใจเกิน

17. ใจเย็นเกินไป ประมาท

18. ไม่มีประสบการณ์พอ

19. นักบินอ่อนซ้อม หยุดบินนานเกิน